Specialist

ก่อนเพิ่มจำนวนไก่ในเล้า เราต้องเช็คอะไรบ้าง ? สิ่งสำคัญที่ควรรู้

ก่อนเพิ่มจำนวนไก่ในเล้า เราต้องเช็คอะไรบ้าง ? เพราะอะไร ทำไมเราเพิ่มความหนาแน่นของไก่ไม่ได้

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจเรื่องความหนาแน่นก่อน ปกติเรามักจะคุยกันว่า เราใส่ไก่เท่านั้นเท่านี้ตัวต่อตารางเมตร เช่น 10 ตัว 11 ตัว 12 คัว แต่ว่า ค่าเหล่านี้ไม่ได้บอกถึงความสามารถในการผลิตไก่ของเราเลย

สมมุติว่า เราเลี้ยงไก่ 10 ตัวหรือ 11 ตัว แต่ถ้าเราจับไก่ที่น้ำหนักน้อย ผลผลิตก็ได้น้อย ในการคิดความสามารถในการผลิตนั้น ความจริงแล้วเราต้อง “คิดออกมาเป็นน้ำหนักต่อตารางเมตรของพื้นที่ในการเลี้ยง” ไม่ใช่พื้นที่โรงเรือน

แล้ววิธีคิดทำอย่างไร ?

เช่น เราต้องคิดว่าเราเลี้ยงไก่ 10 ตัวต่อตารางเมตร ที่น้ำหนักจับ 2.75 กิโลกรัม ดังนั้น ความสามารถในการผลิตของเราก็คือ 27.5 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ถ้าเราจับไก่ที่ 2.5 กิโลกรัม ความสามารถในการผลิตก็คือ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร จะเห็นได้ว่าต่างกันถึง 2.5 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ถ้าคิดรวมหมดทั้งโรงเรือน จะต่างกันเป็นหลายร้อยกิโลกรัมทันที

ถ้าเราสามารถเพิ่มความสามารถในการเลี้ยงให้ได้มากขึ้น โดยที่เราไม่ต้องสร้างโรงเรือนเพิ่มขึ้น นั่นก็หมายความว่า เราสามารถลดต้นทุนการผลิตลงมาได้มากเช่นเดียวกัน

ในมาตรฐานของอเมริกา เขาแนะนำให้คิดผลผลิตต่อตารางเมตรสูงสุดอยู่ที่ 42 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งจะเป็นค่าที่สูงมาก แต่เราจะตั้งเป้าไว้ที่ 36 กิโลกรัมต่อตารางเมตรก็น่าจะพอสำหรับบ้านเรา

เพราะอะไร.. ทำไมบ้านเราใส่ไก่ได้น้อยจัง ?

  • ไม่มั่นใจในระบบโรงเรือนที่มีอยู่
  • ไม่มีใครแนะนำ บอกว่าใส่ไก่ได้เพิ่มขึ้น เพราะทำต่อ ๆ กันมา

หมอไก่อยากบอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ระบบโรงเรือน รวมถึงระบบการควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรือนด้วย” ก็มีส่วน การจะใส่ไก่ให้แน่นขึ้นนั้น ระบบควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรือนต้องดี 

ก่อนเพิ่มจำนวนไก่ในเล้า มีปัจจัยที่สำคัญอะไรอีกบ้าง ?

1. ความสามารถในการดูดอากาศของพัดลม

ตรวจสอบความสามารถในการดูดอากาศของพัดลมภายในโรงเรือนก่อนเพิ่มจำนวนไก่

พัดลมต้องสามารถดูดอากาศได้ตรงตามที่โรงงานระบุไว้ โดยเอามาคำนวณความเร็วลมและปริมาณลมที่ดูดออก ความสามารถของพัดลมนี้จะแปรผันไปตามสภาพความดันติดลบในโรงเรือน ถ้าความดันติดลบมาก ความสามารถในการดูดลมก็ลดลง ดังนั้น ตอนติดตั้งพัดลมจะต้องถามคนขายพัดลมด้วยว่า ในระดับความดันติดลบต่าง ๆ กัน พัดลมจะดูดอากาศได้เท่าไหร่ จะได้นำตัวเลขนี้มาคำนวณปริมาณในการติดพัดลมสำหรับโรงเรือน

2. ตรวจสอบรูรั่วหรือรอยรั่วภายในโรงเรือนก่อน

ตรวจสอบสภาพโรงเรือนมีรู หรือรอยรั่วหรือไม่

เราต้องตรวจโรงเรือนของเราทั้งหมด จะต้องไม่มีรูเล็กรูน้อย ตามผ้าม่าน รอยต่อ ประตูต่าง ๆ ถึงแม้รูจะเล็ก แต่ถ้ามาจำนวนมาก ก็มีผลทำให้ความเร็วของลมในโรงเรือนลดลง เมื่อความเร็วลดลง ปกติก็มักจะนิยมติดชิ่งลม ถ้าเราไปดูโรงเรือนในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา เราจะไม่เห็นชิ่งลม เพราะโรงเรือนที่เขาสร้าง ได้ตามที่เขาออกแบบ เมื่อสร้างโรงเรือนเสร็จ ก็จะมีการตรวจเช็คลมรั่วก่อน

ดังนั้น ความเร็วลมจึงเป็นไปตามที่ได้คำนวณไว้ และอีกอย่างบ้านเรามักไม่ค่อยทำกัน โดยคิดว่า โรงเรือนเลี้ยงไก่คงเหมือน ๆ กันหมด

3. ฉนวนกันความร้อน ทั้งหลังคา ด้านข้าง

ตรวจสอบฉนวนกันความร้อน ทั้งหลังคา ด้านข้าง ภายในโรงเรือน

ฉนวนเหล่านี้จะสามารถทำให้เราควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรือนได้ดีมาก ปัจจุบันโรงเรือนส่วนใหญ่ในบ้านเรามักนิยมใช้ผ้าใบปิดข้าง โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ การทำให้โรงเรือนเป็นระบบท่อ หรือ Tunnel House แต่สิ่งที่เรามักไม่คำนึงถึง คือ ประสิทธิภาพในการป้องการความร้อน ความเย็น จากภายนอกให้มากระทบกับภายใน ปัจจุบันหากเปลี่ยนรูปแบบเป็นโรงเรือนใหม่เป็นแบบ ก่อกำแพงข้างกันมากขึ้น (Solid Wall) นอกจากจะไม่มีปัญหาเรื่องลมรั่ว เปลี่ยนบ่อยแล้ว หน้าที่สำคัญคือการป้องกันผลกระทบจากสภาพแวดล้อมภายนอก

ผลกระทบที่ตามมา..

ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเพิ่มความจุไก่ในโรงเรือน คือ การต้องพึ่งพาระบบอัตโนมัติมากขึ้น เพราะถ้าคนงานยังต้องเข้าไปจัดการต่าง ๆ ภายในโรงเรือน จะทำให้ไก่ตื่น ตกใจ เป็นเหตุให้เป็นแผลที่ผิวหนัง การจัดให้ระบบต่าง ๆ เป็นระบบอัตโนมัติจะช่วยให้เราได้ไก่มากขึ้น ลดต้นทุนลง ซึ่งถ้าเราตัดสินใจว่าจะเพิ่มจำนวนไก่ในเล้า ก็อย่าลืมคิดถึงถาดอาหารและที่ให้น้ำด้วย ต้องเพื่มตามจำนวนไก่ไปด้วย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : รู้หรือไม่? ในแต่ละฤดู เราไม่สามารถใส่ไก่ได้เท่ากัน

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *