เจ้าของฟาร์มหรือเกษตรกรหลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราสร้างฟาร์ม สร้างโรงเรือนในบริเวณเดียวกัน ใช้ผู้รับเหมาออกแบบโรงเรือนเหมือนกัน อุปกรณ์ที่ติดตั้งมาจากผู้ขายรายเดียวกัน และการติดตั้ง รวมถึงการ Set up อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เหมือนกันอีก แต่เมื่อเลี้ยงไก่ไปแล้ว ทำไมไก่โตไม่เท่ากัน อัตราแลกเนี้อไม่เท่ากัน ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง เกิดวงจรปัญหารูปแบบเดิม ๆ เวลาไก่ตายแล้วต้องคัดทิ้ง แล้วปัญหามันเกิดจากอะไรกัน?
หมอไก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงไก่มากว่า 40 ปี จะมาช่วยคลายข้อสงสัยให้กับเจ้าของฟาร์ม หรือเกษตรกร ทุก ๆ คน ว่าทำไมเลี้ยงไก่พันธุ์ แต่ละรุ่น เหมือนกัน ถึงได้ผลลัพธ์ออกมาแตกต่างกัน
1. คนเลี้ยงไก่ มีความเชี่ยวชาญไม่เท่ากัน
จริง ๆ แล้ว ถ้าอาหารมาจากล๊อตเดียวกัน ลูกไก่มาจากโรงฟักเดียวกัน รูปแบบโรงเรือน อุปกรณ์ที่ใช้เหมือนกัน ผลก็น่าจะออกมาเหมือนกันใช่ไหม ? ทั้ง ๆ ที่เราลงทุนกับอุปกรณ์อัตโนมัติไปตั้งมากมาย รวมทั้ง อาจจะมีการจ้างคนงานมาเลี้ยงไก่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เจ้าของฟาร์มก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คนเลี้ยงไก่แต่ละคนก็มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ที่ไม่เท่ากัน ทำให้ผลลัพธ์การเลี้ยงไก่ออกมาต่างกัน ถ้าคนเลี้ยงไก่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบฟาร์ม พันธุ์ไก่ ความต้องการอาหารของไก่ แน่นอนแหละว่า ผลลัพธ์ของกำไร-ขาดทุน จากการเลี้ยงไก่ก็จะหายไปเหมือนกัน
2. ไม่รู้จุดแข็ง-จุดอ่อน ภายในฟาร์มไก่
ทฤษฎีหลักเลยก็ คือ Hardware ซึ่งหมายถึงโรงเรือน อุปกรณ์ต่าง ๆ อีกอย่างที่สำคัญ คือ Software หมายถึงการจัดการต่าง ๆ ภายในฟาร์ม อย่างแรกที่สำคัญ “เรารู้จัก Hardware และ Software ในโรงเรือนของเราดีพอแล้วหรือยัง?” สิ่งสำคัญเราต้องกลับมาทำการบ้าน ศึกษา และทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบของโรงเรือนที่เราสร้างมา รวมถึง อุปกรณ์ควบคุมทั้งหมดภายในฟาร์มที่เรามี เช่น รูปแบบโรงเรือนที่เราสร้าง มีจุดอ่อน-จุดแข็ง คืออะไร? จะเลี้ยงไก่ในโรงเรือนแบบนี้ได้ยังไง ซึ่งหลาย ๆ คนยังตอบไม่ได้ด้วยซ้ำ การรู้ข้อมูลตรงนี้ จะช่วยให้เจ้าของฟาร์มรู้จักข้อมูล Insight เพื่อนำมาพัฒนาการเลี้ยงไก่ วิเคราะห์สภาพความเป็นอยู่ของไก่ภายในฟาร์ม แล้วปรับปรุงประสิทธิภาพการเลี้ยงให้ได้ผลลัพธ์ที่คงที่และดียิ่งขึ้นได้นั่นเอง
3. รูปแบบโรงเรือนไม่ตอบโจทย์กับวิธีการเลี้ยงไก่
ในอดีตบ้านเราส่วนใหญ่จะนิยมสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่แบบเปิด เป็นรูปแบบด้านข้างเป็นตาข่ายธรรมดา อาศัยลมตามธรรมชาติเป็นตัวคลายความร้อนให้ไก่ บางที่ก็เลือกสร้างโรงเรือนไว้บนบ่อปลา และอาศัยความเย็นจากน้ำแทน เมื่อไก่นอนก็จะรู้สึกเย็น ด้วยโรงเรือนที่เป็นแบบเปิดมีการระบายอากาศตามธรรมชาติ รวมกับน้ำที่พื้นทำให้เกิดการระเหยของน้ำ
ในยุคที่ไข้หวัดนกระบาดอย่างหนักทำให้กรมปศุสัตว์ต้องออกมาหาวิธีการแก้ไขด้วยการไปเอาแบบโรงเรือนมาจากบริษัทใหญ่ แล้วบังคับให้ผู้เลี้ยงไก่สร้างโรงเรือนแบบปิดแทน ซึ่งเจ้าของฟาร์มหรือเกษตรกรในช่วงเวลานั้น แม้แต่กรมปศุสัตว์เอง ก็ยังไม่มีความรู้ว่าโรงเรือนระบบปิดทำงานยังไง
ซึ่งการเลี้ยงไก่แบบเปิดกับเลี้ยงไก่แบบปิด จะมีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องพื้นที่ สภาพแวดล้อม การให้อาหาร รวมทั้ง รูปแบบการใช้ชีวิตของไก่ จะไม่สามารถใช้วิธีเลี้ยงการเลี้ยงแบบเดียวกันได้
4. ไก่ตาย จากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม
ไม่ใช่แค่คนที่ต้องการ Comfort Zone แต่ไก่ ก็เช่นเดียวกันที่ต้องการสภาวะหรืออุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพที่ดีได้ ซึ่งไก่แต่ละช่วงอายุ ก็จะต้องการสภาวะอากาศที่มีอุณหภูมิคงที่ที่แตกต่างกันไป เช่น ลูกไก่ต้องสภาวะอากาศอุณหภูมิประมาณ 30 – 35 °C (86 – 95 °F) และความชื้น 50 – 70 %RH ส่วนไก่ที่โตเต็มวัยต้องการสภาวะอากาศที่มีอุณหภูมิประมาณ 18 – 25 °C (65 – 77 °F) และความชื้น 40 – 70 %RH
ด้วยเหตุนี้ การเลี้ยงไก่ระบบปิดจึงมีโอกาสที่จะทำให้ไก่ได้รับผลกระทบจากอากาศร้อนมากกว่าไก่ที่เลี้ยงแบบระบบเปิด เพราะพื้นที่ระบบปิดที่คับแคบนั้น จะไม่มีโอกาสให้ไก่ได้เลือกหาจุดที่เย็นสบายที่สุดเองได้
เดี๋ยวนี้มีระบบควบคุมสภาวะอากาศในโรงเรือนปิดอีแวป (Climate Control) และหลายโรงเรือนเริ่มใช้ระบบอีแวป (Evaporative Cooling) เพื่อคลายความร้อนให้กับไก่ มีการสั่งซื้อแพดอีแวป หรือ ติดตั้งแผ่นคูลลิ่งแพดในโรงเรือน เมื่ออากาศร้อนผ่านอีแวป (Evap) จะช่วยระบายอากาศ ลดกลิ่น และรักษาสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนให้คงที่ ช่วยลดอัตราไก่น็อค ไก่ตาย จากความร้อนในโรงเรือนระบบปิดได้
5. ระบบการจัดการ ดูแลไม่ดี
โรงเรือนที่ใช้ในบ้านเราจะเป็นแบบที่เรียกว่า Tunnel House ซึ่งเจ้าของฟาร์มหรือเกษตรกรอาจจะทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ระบบระบายอากาศในโรงเรือนเลี้ยงไก่ระบบปิด หรือ Tunnel Ventilation นี้ เป็นระบบที่เหมาะสำหรับไก่กลางขึ้นไป แต่ถ้าเราเริ่มใช้เลี้ยงตั้งแต่ ไก่เล็กไปจนจับไก่เลยก็อาจจะไม่เหมาะสม
กรณีที่เจ้าของฟาร์มไม่เข้าใจระบบเลยทำให้ต้องพึ่งพาความขยันของคนเลี้ยงเป็นหลัก เมื่อจ้างคนเลี้ยงมาดูแลไก่ให้ 24 ชั่วโมง แต่ถ้าคนเลี้ยงไก่ไม่หมั่นดูแล ตรวจสอบ บันทึกข้อมูลอาหาร น้ำหนัก อัตราการเจริญเติบโต และสุขภาพของไก่อย่างสม่ำเสมออยู่ตลอด 24 ชั่วโมงนั้น ผลลัพธ์ที่ได้นั้นก็จะได้แตกต่างกันไปอย่างแน่นอน
“แล้วอุปกรณ์อัตโนมัติที่เราติดตั้งไป ทำงานได้ไม่คุ้มค่าอย่างความคาดหวัง และค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไปเลยทำอย่างไร หากเจ้าของฟาร์มต้องการให้ผลการเลี้ยงมันได้ประสิทธิภาพ ออกมาใกล้เคียงกันทุกรุ่นต้องทำยังไง” หมอไก่มาบอกวิธีให้

สิ่งที่เจ้าของฟาร์มต้องทำความเข้าใจก่อนเลี้ยงไก่เป็นอันดับแรก คือ..
1.เข้าใจระบบโรงเรือนของเรา
2.เข้าใจความสามารถของอุปกรณ์ที่เรามี
3.เข้าใจการทำงานของอุปกรณ์ควบคุมที่เรามี
4.เข้าใจระบบการระบายอากาศของโรงเรือน
5.เข้าใจความต้องการของพันธุ์ไก่ที่เราเลี้ยง
6.จัดการทุกอย่างให้ขึ้นกับระบบ พึ่งพาคนเลี้ยงน้อยลง
เมื่อทุกอย่างเดินอย่างเป็นระบบมากขึ้น ผลลัพธ์ก็จะออกมาเหมือนกันมากขึ้นในครั้ง ๆ ต่อไป โดยไม่ต้องมานั่งกังวลว่าไก่จะตาย หรือขาดทุนเท่าไหร่ ถ้าเรามีระบบบริหารการจัดการที่ดี เข้าใจระบบในโรงเรือนของเรา ความต้องการอาหารของไก่แต่ละรุ่น การดูแลที่ถูกต้องและสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาการเลี้ยงไปจนถึงวันจับไก่ หมอไก่รับรองเลยว่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพโรงเรือน ให้มีคุณภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน